โครงการที่ 3 ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โครงการนี้เป็นการพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการจัดทำใบกำกับภาษี รวมทั้งการนำส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินและการนำส่งภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment อันจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนของภาคเอกชน ในการจัดทำเอกสารและการชำระภาษี

เป้าหมายการดำเนินงานปี 2559

(1) ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้สะดวกขึ้น
(2) สามารถจัดส่งใบกำกับภาษีผ่านภาพ Centrally signed email ได้ในเดือนตุลาคม 2559
นอกจากนั้น คาดว่า ระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จะพร้อมใช้ในเดือนมกราคม 2560

ประโยชน์ที่จะได้รับ

โครงการนี้จะทำให้ในอนาคต เมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment จะมีการเชื่อมโยงระบบการชำระภาษีเข้ากับระบบการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนการชำระภาษีและการนำส่งเอกสารภาษีอากร โดยจะถือเป็นการชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเบ็ดเสร็จได้ขณะที่ทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสถาบันการเงิน โดยหากผู้ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ e-Payment ธนาคารจะทำหน้าที่ในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก พร้อมกันนั้นธนาคารจะนำส่งข้อมูลการเงินที่ทำธุรกรรมและข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรไปในคราวเดียวกันโดยตรง อันจะอำนวย ความสะดวกในด้านภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Doing Business ที่ต้องการลดจำนวนการติดต่อระหว่างภาครัฐกับเอกชนและการก้าวสู่สังคมดิจิตอลอย่างสมบูรณ์

ในทางปฏิบัติ จากการที่กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบบริการจัดทำ นำส่ง และตรวจสอบข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกและสอดคล้องกับลักษณะผู้ประกอบการที่หลากหลาย จะนำมาสู่ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ดังนี้
(1) ผู้ประกอบการจะจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนที่ลดลง เช่น ขั้นตอนการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
(2) ผู้ประกอบการจะมีช่องทางจัดส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายสอดคล้องกับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น การถ่ายโอนข้อมูลแบบ Host to Host การถ่ายโอนข้อมูลผ่านผู้ให้บริการ (Service Provider) การถ่ายโอนข้อมูลโดยการอัพโหลดข้อมูล การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร การส่งใบกำกับภาษีและใบรับผ่านระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลาง (Simple Centrally Signed Email) เป็นต้น
(3) ผู้ประกอบการจะมีภาระในการจัดเตรียมเอกสารเพื่อการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง โดยกรมสรรพากรจะจัดทำรายงานภาษีขายโดยอัตโนมัติ (Electronic VAT report) เมื่อข้อมูลภาษีซื้อ-ภาษีขายบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบถ้วน

ทั้งนี้ ในระยะแรกเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังไม่สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์มีความคุ้นเคยกับการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรได้ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) พัฒนาระบบ Simple Centrally Signed Email เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าสามารถจัดส่งใบกำกับภาษีทางอีเมลล์ในรูปแบบข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องจัดซื้อลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นของตนเอง